สถิติ
เปิดเมื่อ10/07/2012
อัพเดท8/01/2015
ผู้เข้าชม373407
แสดงหน้า438718

ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
9325167615239
ปฎิทิน
April 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
    




การปลูกไผ่ตงลืมแล้ง.. (เข้าชม 855 ครั้ง)

ไผ่ตงมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ตงหม้อ ตงดำ ตงเขียว และตงหนู โดยลักษณะตามสายพันธุ์มีดังนี้

1. ไผ่ตงหม้อ หรือ ไผ่ตงใหญ่ หรือ ไผ่ตงหนัก ไผ่ตงสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุด จึงมีลำขนาดใหญ่ ลำยาวตั้งแต่ 10 เมตร ขึ้นไป ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 12-18 เซนติเมตร ใบมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ กอโปร่ง เพราะแตกกิ่งแขนงน้อย หน่อมีขนาดใหญ่มาก หนักประมาณ 5-10 กิโลกรัม (หน่อหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ก็เคยมี แต่เมื่อสมัยก่อนที่ยังอุดมสมบูรณ์และอายุกอยังไม่มาก) หน่อมีสีน้ำตาลอมม่วงและน้ำตาลดำอมม่วง บนกาบหน่อมีขนค่อนข้างละเอียด เนื้อหน่อมีสีขาว แต่แข็งและหยาบกว่าตงดำ ช่วงออกหน่อจะอยู่กลางฤดูฝน (กรกฎาคม-สิงหาคม)

2. ไผ่ตงดำ หรือ ไผ่ตงกลาง สายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่รองลงมาจากไผ่ตงหม้อ คือเส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 6-12 เซนติเมตร หรือมีเส้นรอบวงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ที่สำคัญลำต้นมีสีเขียวเข้มจนไปถึงอมดำ จึงเป็นที่มาของชื่อตงดำ ลำต้นเตี้ยกว่าและสั้นกว่าตงหม้อ ข้อค่อนข้างเรียบ และที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะมีแป้งสีขาวจับอยู่บริเวณปล้อง ใบมีสีเขียวเข้มขนาดใหญ่และหนากว่าไผ่ตงสายพันธุ์อื่นๆ หน่อไผ่ตงดำจัดเป็นสุดยอดหน่อไม้ที่มีคุณภาพดีมาก เนื่องจากมีรสหวาน กรอบ เนื้อขาวละเอียด ไม่มีเสี้ยน นิยมนำมาทำตงหมก หน่อจะมีน้ำหนักประมาณ 3-6 กิโลกรัม

3. ไผ่ตงเขียวนี้จะมีขนาดลำต้นเล็กและสั้นกว่าไผ่ตงดำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 5-12 เซนติเมตร สีของลำต้น จะเป็นสีเขียว เนื้อไม้บาง ไม่ค่อยแข็งแรง ใบมีขนาดปานกลาง บางและสีเขียวเข้ม จับแล้วไม่สากมือ หน่อมีน้ำหนัก 1-4 กิโลกรัม หน่อไม้ไผ่ตงชนิดนี้จะมีรสหวานอมขื่นเล็กน้อย เนื้อเป็นสีขาวอมเหลือง ไผ่ตงเขียวมีความคงทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี นอก จากนี้แล้วไผ่ตงเขียวยังมีความคงทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีผู้นิยมปลูกกันมากไม่แพ้ไผ่ตงดำ

4. ไผ่ตงหนู หรือ ตงเล็ก เป็นพันธุ์ขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่เพียง 3-6 เซนติเมตร ไผ่ตงชนิดนี้ยังปลูกกันน้อย เนื่องจากให้ผลผลิตต่ำกว่าไผ่ตงอื่น ๆ แหล่งปลูกภาคเหนือที่ได้ผลดีคือ ที่จังหวัดลำปาง และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังมีปลูกกันไม่มากครับ

ไผ่ตงที่ขายกันส่วนมากแล้วก็จะมีตงหม้อและตงเขียวศรีปราจีนที่ขายกัน และกิ่งพันธุ์ไผ่มักนิยมขยายด้วยวิธีตอนกิ่งซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะไผ่ ตงออกรากง่าย ลำหนึ่งตอนได้ทีเป็นสิบกิ่ง และกิ่งพันธุ์มีโอกาสรอดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การขยายพันธุ์ด้วยวิธีชำกิ่งแขนง และชำลำที่มีแขนงติดมาด้วยก็นิยมเช่นกัน เพราะสะดวกรวดเร็ว และได้จำนวนมาก ส่วนวิธีดูว่ากิ่งพันธุ์ที่ขายนั้นเป็นไผ่ตงจริงหรือไม่นั้น มีลักษณะดูง่ายๆ คือ ที่ลำแม่ที่เขาตัดมาชำนั้น ที่หัวเขาจะตัดให้เป็นหัวแหลมหรือเฉียงนั่นเอง ส่วนไผ่เลี้ยงจะตัดตรงๆ สังเกตลักษณะการตัดได้ที่ลำแม่ที่ชำเช่นกัน

ไผ่ตง เราจะเน้นบริโภคหน่อเป็นหลัก แต่ลำก็ใช้ติดตรงที่เนื้อไม้บางลำกลวงมีช่องว่างมาก เหมาะกับการทำของที่ระลึก ของใช้ ของชำร่วยที่ไม่มีการกดทับมากนัก เฟอร์นิเจอร์ก็ทำได้แต่ต้องพิถีพิถันตั้งแต่ขั้นตอนการตัด การรักษาเนื้อไม้ และการประกอบ
  


การเตรียมพื้นที่
ควรเตรียมพื้นที่ไว้ตั้งแต่ฤดูแล้ง ซึ่งจะทำงานได้สะดวกสามารถลงมือปลูกได้ทันในต้นฤดูฝน โดยในพื้นที่ที่เป็นแอ่ง ที่ลุ่มน้ำขัง มีเนิน หรือมีตออยู่ในพื้นที่ต้องไถบุกเบิก กำจัดตอออกให้หมด ปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบอยู่แล้ว แค่ไถพรวนกำจัดวัชพืชอย่างเดียวก็พอ

ฤดูปลูก
ในแหล่งที่สามารถให้น้ำได้ตลอดทั้งปี ก็สามารถปลูกไผ่ได้ตลอดปีเช่นกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรปลูกตั้งแต่ฝนเริ่มตก จนถึงปลายเดือนมิถุนายน หากฝนทิ้งช่วง ควรให้น้ำช่วย 

ระยะปลูก
ระยะปลูกที่เหมาะสมระหว่างต้น x ระหว่างแถว คือ 6-8 x 6-8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกไผ่ตงได้ประมาณ 25-45 ต้น ทั้งนี้ระยะปลูกควรพิจารณาจากพันธุ์ไผ่ตง และสภาพความสมบูรณ์ของดิน ถ้าปลูกไผ่ตงดำ ควรปลูกห่างกว่าไผ่ตงเขียว เพราะขนาดลำของไผ่ตงดำจะใหญ่กว่าไผ่ตงเขียว และถ้าสภาพดินเลว ไผ่ไม่ค่อยเจริญเติบโต ควรใช้ระยะปลูกที่ถี่กว่าสภาพดินดี 

การเตรียมหลุมปลูก
หลุมที่ปลูกไผ่ตงควรมีขนาด กว้างxยาวxลึก ไม่น้อยกว่า 50x50x50 เซนติเมตร ให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต 1 กระป๋องนม (ประมาณ 300-500 กรัม) ต่อหลุม ผสมปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว 1 บุ้งกี๋ (ประมาณ 1 กิโลกรัม) และยาฆ่าแมลงฟูราดาน 1-1.5 ช้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้ากับดินบนให้ทั่วแล้วกลบกลับคืนลงไปในหลุม ให้ระดับดินสูงกว่าเดิมเล็กน้อยเผื่อสำหรับดินยุบตัวภายหลัง

การปลูก
ถ้าเป็นต้นกล้าไผ่ตงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ควรเป็นต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ มีอายุไม่น้อยกว่า 14 เดือน หรือความสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีระบบรากฝอยแผ่กระจายและสมบูรณ์ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง สำหรับการคัดเลือกต้นกล้าไผ่ตงที่ได้จากการชำ กิ่งแขนงนั้น ควรเป็นต้นกล้าที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจาก การทำลายของโรคและแมลงการปลูกควรนำต้นกล้าไปปลูกตรงกลางหลุมที่เตรียมไว้ปลูกให้ลึกเท่า กับระดับดินเดิมแล้วพูนดินบริเวณโคนต้นให้เป็นเนินสูงขึ้นเล็กน้อย ใช้ไม้ปัก เป็นหลักผูกยึดต้นไผ่ เพื่อป้องกันลมโยก หลังจากนั้นต้องรดน้ำตามทันที เพื่อช่วยให้เม็ดดินกระชับราก นอกจากนี้ต้นไผ่ที่เพิ่งปลูกจะไม่ทนต่อแสงแดด และความร้อนสูง ต้องใช้ทางมะพร้าวหรือวัสดุอื่น ช่วยพรางแสงแดด จนกว่าต้นกล้าจะมีใบใหญ่และตั้งตัวได้แล้ว จึงค่อยปลดออก

การปลูกพืชแซม
ในระหว่างที่ต้นไผ่ตงเพิ่งเริ่มปลูกยังเล็กอยู่ในช่วง 1-2 ปีแรก ควรจะปลูกพืชแซม เพื่อเสริมรายได้ อาจจะปลูกผัก พืชไร่ หรือไม้ผลอายุสั้น เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น หลังจากไผ่ตงโตแล้วแดดส่องผ่านได้น้อย ก็ยังสามารถปลูกพืชแซมได้ พืชที่ปลูกได้ผลดีก็คือ กระชาย เพราะเป็นพืชที่ทนร่มได้ดี นอกจากกระชายแล้ว ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ทนร่มและได้ผลดี เช่นกัน ในสวนที่ไม่ได้ปลูกพืชแซมควรปล่อยให้มีหญ้าขึ้นตามธรรมชาติ และคอยควบคุมการตัด หรืออาจจะปลูกพืชคลุมดินเพื่อรักษาหน้าดินและความชื้นภายในดิน เช่น ถั่วลาย เพอราเลีย คุดซู ก็ได้ โดยหว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 2-3 กก./ไร่

การให้น้ำ
ต้นไผ่ตงปลูกใหม่ในระยะแรกนั้น จะขาดน้ำไม่ได้ต้องคอยดูแลรดน้ำให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากนั้นเมื่อไผ่ตงตั้งตัวได้ดีแล้ว อาจเว้นระยะห่างออกไปบ้างปริมาณ และความถี่ของการให้น้ำขึ้นอยู่ กับสภาพความชื้นของดินและเมื่อถึงฤดูแล้งควรหาวัสดุ เช่น หญ้าแห้ง ฟางแห้ง คลุมบริเวณโคนต้น เพื่อรักษาความชื้นให้ กับดิน 

การใส่ปุ๋ย
- การให้ปุ๋ย ในช่วงปีแรกไผ่ตงสามารถใช้ ปุ๋ยที่คลุกเคล้าไปกับดินปลูกได้ในระยะปีต่อ ๆ ไปจำเป็นจะต้องมีการไถพรวนและใส่ ปุ๋ย หลังจากเก็บหน่อขายแล้วจะทำการตัดแต่งกอและไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมไถพรวนในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศ จิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะไถพรวนได้ยาก
- การใส่ปุ๋ยจะใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปุ๋ยที่นิยมคือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักโดยจะใส่ในอัตรา 1-1.5 ตันต่อไร่ (40-50 กก. หรือ 4-5 บุ้งกี๋ต่อกอ) หรืออาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 2-4 กก. ต่อกอ ร่วมกับปุ๋ยคอก
ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ นอกเหนือจากปุ๋ยปกติแล้วจะมีการใส่ปุ๋ย ยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 1-2 กก. รอบ ๆ กอ โดยระวังอย่าให้โดนหน่อ เพราะจะทำให้หน่อเน่าได้ และถ้าต้องการให้หน่อมีคุณภาพดียิ่งขึ้นควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพิ่มไปในอัตรา 1 กก. ต่อกอโดยใส่ไปพร้อม ๆ กับยูเรีย
- การปลูกไผ่ตงจะเน้นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นหลัก ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้กอไผ่ทรุดโทรมเร็ว

การตัดหน่อไผ่ตง
ไผ่ตงจะเริ่มแทงหน่อเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน การตัดหน่อจะตัดเมื่อหน่อยาวประมาณ 1 ฟุต โดยใช้เสียมหางปลาตัดหน่อบริเวณกาบใบที่ 3 จากโคนหน่อ ซึ่งจะเหลือตาไว้ 2-3 ตา สำหรับแตกหน่อในปีถัดไป สำหรับหน่อที่ไม่แข็งแรงให้ตัดออกทิ้งไป การตัดหน่อควรทำตอนเช้ามืด เพื่อจะได้หน่อไม้สดส่งตลาด หน่อไม้ไผ่ตงที่ตัดไว้นาน ๆ จะทำให้ความหวานลดลง ดังนั้น ควรตัดหน่อแล้วรีบขายทันที ในการตัดหน่อควรเริ่มตัดหน่อจากกลางกอก่อน แล้วขยายวงออกมารอบนอกกอ ส่วนหน่อที่อวบใหญ่ที่อยู่ด้านนอกควรมีการรักษาไว้เพื่อให้เป็นลำแม่เลี้ยงหน่อต่อไป

การตัดแต่งกอ
ไผ่ตงก็เหมือนต้นไม้ทั่ว ๆ ไป ต้องมีการตัดแต่งหลังการเก็บเกี่ยวหน่อในช่วงฤดูฝน โดยแต่งกอในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ควรตัดแต่งกอให้สะอาด โดยดำเนินการดังนี้ 
1.    ตัดกิ่งเป็นโรค และกิ่งแห้งออก 
2.    กอไผ่ตงที่อายุ 1-2 ปี จะไม่มีการตัดหน่อ ทั้งนี้เพื่อไว้เป็นลำสำหรับเลี้ยงกอ ให้เจริญเติบโตและขยายกอใหญ่ขึ้น 
3.    กอไผ่ตงที่มีอายุ 2 ปี ให้เลือกตัดหน่อที่ชิดลำอื่น หน่อที่ไม่สมบูรณ์ และหน่อตีนเต่าออก เหลือไว้เพียง 5-7 หน่อ ต่อกอ 
4.    กอไผ่ตงที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้เลือกตัดลำที่แก่อายุเกิน 3 ปีขึ้นไป ออกขายหรือใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม โดยเหลือลำแม่ที่สมบูรณ์ไว้ประมาณ 10-20 ลำต่อกอ เพื่อเลี้ยงกอและเลี้ยงหน่อที่ออกใหม่ การตัดลำแก่ออกนี้ควรตัดจากลำที่อยู่กลางกอ กอไผ่ตงจะได้โปร่งและขยายกอออกกว้างขึ้น 

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร